มวยไทย มรดกล้ำค่า ที่ควรสืบทอด

มวยไทย มรดกล้ำค่า ที่ควรสืบทอด

Share : facebook share line share.png twitter share messenger share

มวยไทย มรดกล้ำค่า ที่ควรสืบทอด



มวยไทย มรดกล้ำค่า ที่ควรสืบทอด

มวยไทย เป็นกีฬา และศิลปะการต่อสู้ของไทย ที่เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก หลายคนเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการออกกำลังกาย โดยการฝึกมวยไทย มวยไทยนั้นช่วยเสริมความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อ ช่วยให้มีสมาธิ และความว่องไว สามารถใช้ป้องกันตัวและช่วยเหลือผู้อื่นได้ นอกจากนี้มวยไทยยังเป็นมรดกทางประเพณีและวัฒนธรรมที่สำคัญของไทยอีกด้วย

 

เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้ประกาศขึ้นทะเบียนมวยไทยให้เป็น มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ สาขากีฬาภูมิปัญญาไทย เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดความตระหนักในคุณค่าและยกย่ององค์ความรู้ ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไทย

 

กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้ร่วมมือกับภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับมวยไทย ตลอดจนหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ผลักดันให้มีการสถาปนา "วันมวยไทย” โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ กำหนดให้วันที่ 6 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็นวันมวยไทย ตรงกับวันเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติของสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 (สมเด็จพระเจ้าเสือ) ซึ่งทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยที่มีพระปรีชาสามารถด้านมวยไทยเป็นที่ประจักษ์ และเป็นพระมหากษัตริย์เพียงพระองค์เดียว ที่เสด็จออกไปชกมวยกับสามัญชน ตามบันทึกในพงศาวดาร (ฉบับพระราชหัตเลขา พ.ศ.2542) ที่กล่าวว่า พระเจ้าเสือ ทรงแต่งกายแบบชาวบ้าน และเสด็จทางชลมารคพร้อมเรือตามเสด็จ ไปจอดที่ตำบลตลาดกรวด ซึ่งมีงานมหรสพมีผู้คนไปเที่ยวงานอย่างเนืองแน่น มีการละเล่นมากมายหลายอย่าง พระองค์เสด็จไปยังสนามมวยและให้นายสนามจัดหาคู่ชกให้ โดยนายสนามประกาศให้ประชาชนทราบว่า พระองค์เป็นนักมวยจากเมืองกรุง ประชาชนสนใจมาก เพราะสมัยนั้น นักมวยกรุงศรีอยุธยามีชื่อเสียงมาก นายสนามได้จัดเอานักมวยฝีมือดีของเมืองวิเศษไชยชาญเท่าที่มีอยู่ มาเป็นคู่ชก พระเจ้าเสือได้ชกกับ นักมวยถึงสามคนมี นายกลาง หมัดตาย นายใหญ่ หมัดเหล็ก และนายเล็ก หมัดหนัก ซึ่งแต่ละคนมีฝีมือดีเยี่ยม การต่อสู้เป็นไปอย่างน่าดูด้วยฝีมือเก่งพอ ๆ กัน แต่ด้วยพระปรีชาสามารถและความชำนาญในศิลปะมวยไทย ที่พระองค์ได้ทรงฝึกหัดและศึกษาจากสำนักมวยหลายสำนัก จึงทำให้พระองค์สามารถเอาชนะคู่ต่อสู้ทั้ง 3 คนได้ โดยที่คู่ต่อสู้ต่างได้รับความบอบช้ำเป็นอันมาก และได้รับรางวัลเป็นเงินหนึ่งบาท ส่วนผู้แพ้ได้สองสลึง ซึ่งพระองค์ทรงพอพระราชหฤทัยกับการได้ชกมวยในคราวนั้นไม่น้อย และทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ใช้ศิลปะมวยไทยมาใช้ต่อสู้ปกป้องราชอาณาจักรให้รอดพ้นจากการเป็นเมืองขึ้นของชาวต่างชาติ ตามบันทึกว่า พระเจ้าเสือทรงมีฝีมือการชกมวยไทยชำนาญมาก ในสมัยที่ยังดำรงตำแหน่งขุนหลวงสรศักดิ์ เคยใช้ศิลปะมวยไทยไล่ชกเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ หรือคอนสแตนติน ฟอลคอน จนฟันหักไปสองซี่

 

มวยไทย มีวิวัฒนาการมาหลายยุคหลายสมัย จึงได้หลอมรวมวัฒนธรรมในหลาย ๆ ด้านเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน เช่น ความเชื่อเรื่องจิตวิญญาณ คาถาอาคม ดนตรี วรรณกรรม คุณธรรม และจริยธรรม เป็นธรรมเนียมที่นักมวยไทยยังคงยึดถือและปฏิบัติกันอยู่ในปัจจุบัน เช่น การขึ้นครู การครอบครู การไหว้ครู การแต่งมวย และดนตรีปี่มวย การฝึกมวย จะช่วยพัฒนาร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสติปัญญา ให้เป็นผู้มีความสมบูรณ์ทั้งกาย ใจ มวยไทยนอกจากจะเป็นกีฬาที่สามารถใช้ป้องกันตัวได้ ยังเป็นสื่อที่ทำให้ชาวต่างชาติ ได้รู้จักวัฒนธรรมและประเพณีที่งดงามของไทยอีกด้วย

 

อ่านบทความเพิ่มเติม

มวยไทย ทำไมต้องมีดนตรี

มวยไทย ต้นกำเนินแห่งศาสตร์ศิลป์



บทความที่น่าสนใจ

หมัด เท้า เข่า ศอก สู่ ‘ลูกไม้มวยไทย’
กระสอบทราย อุปกรณ์ สำคัญ การซ้อม มวยไทย ( Muay Thai )