กติกาสังเวียนมวยไทย

กติกาสังเวียนมวยไทย

Share : facebook share line share.png twitter share messenger share

กติกาสังเวียนมวยไทย



มวยไทย ( Muay Thai ) ศิลปะการต่อสู้ที่มีความโดดเด่น ใช้ร่างกายเป็นอาวุธ ซึ่งปัจจุบันมีการจัดรายการแข่งขันและได้รับความสนใจ วันนี้เรามาทำความเข้าใจกติกาในการแข่งขันมวยไทยสมัครเล่น กันสักหน่อยดีกว่า

 

     กีฬาทุกชนิดนั้นจะมีกฎกติกาของแต่ละกีฬาแบ่ง ๆ กันไป ไม่ว่าจะเป็นกีฬาที่ใช้พลังกำลังหรือกีฬาที่ใช้ความสามารถด้านความคิดหรือรวมไปถึงกีฬาประเภท Esport หรือกีฬาที่แข่งกันผ่านเกมก็ล้วนแล้วจะมีกฎกติกา อยู่ทุกประเภท รวมไปถึงกีฬาที่ใช้การต่อสู้เพื่อล้มคู่ต่อสู้ นั่นคือ กีฬาการต่อยมวยนั่นเอง กีฬามวยนั้นจะแบ่งกฎกติกาในหลาย ๆ กฎกติกา ไม่ว่าจะเป็นกฎกติกาเวทีสังเวียน กฎกติกาอุปกรณ์การชกมวย หรือกฎกติกานักมวย จะแบ่งได้หลากหลายรูปแบบของกฎกติกา ดังนั้น เราจะมาแยกกฎกติกาของกีฬามวยประเภทต่าง ๆ กัน ดังนี้

 

     กติกาในการแข่งขันมวยไทยสมัครเล่น มีหลักเกณฑ์ในการให้คะแนนและการตัดสิน ดังนี้

1. การให้คะแนนการชก

     1.1 การชกที่ได้คะแนน ในแต่ละยก ผู้ตัดสินจะคิดคะแนนให้แก่นักมวยแต่ละคน ตามจำนวนของการชกที่ถูกต้องตามแบบฉบับ มวยไทย ( Muay Thai )

     1.2 การชกที่ไม่ได้คะแนน มีดังนี้

          - การชกที่ละเมิดกติกาข้อใดข้อหนึ่ง

          - ชกถูกแขน ขา ของคู่แข่งขัน ในลักษณะที่คู่แข่งกระทำเพื่อป้องกันตนเองจากอาวุธของคู่แข่งขัน

          - การปล่อยอาวุธที่ไม่มีน้ำหนักหรือแรงส่งจากร่างกาย

2. ชนิดของการตัดสิน

     2.1 ชนะโดยน็อคเอาท์ (Win by Knock Out) ถ้าผู้เข้าแข่งขัน “ล้ม” และไม่สามารถแข่งขันต่อไปได้ภายใน 10 วินาที ให้ผู้เข้าแข่งขันเป็นผู้ชนะน็อคเอ้าท์

     2.2 ชนะโดยคะแนน (Win by Points) เมื่อสิ้นสุดการแข่งขัน ผู้เข้าแข่งขันที่ได้รับการตัดสินเสียงข้างมากจากผู้ตัดสินเป็นผู้ชนะ ถ้าผู้แข่งขันทั้งสองฝ่ายบาดเจ็บหรือถูกนับสิบพร้อมกัน และไม่สามารถแข่งขันต่อไปได้ ผู้ตัดสินต้องรวมคะแนนที่ผู้เข้าแข่งขันแต่ละคนได้จนถึงเวลาที่การแข่งขันได้หยุดลง ซึ่งผู้เข้าแข่งขันที่ได้คะแนนมากกว่าเป็นผู้ชนะ

     2.3 ชนะโดยผู้ชี้ขาดสั่งยุติการแข่งขัน (Win by Referee stopping contest)

          - ฝีมืออ่อนกว่ามาก (Out-classed) เมื่อผู้ชี้ขาดเห็นว่า ผู้แข่งขันคนหนึ่งฝีมืออ่อนกว่ามาก หรือถูกชกมากไป ต้องยุติการแข่งขันและให้คู่แข่งขันเป็นผู้ชนะ

          - บาดเจ็บ (Injury) ถ้าผู้ชี้ขาดเห็นว่า ผู้แข่งขันคนหนึ่งมีสภาพร่างกายไม่สมบูรณ์พอที่จะแข่งขันต่อไปได้ เนื่องจากได้รับการบาดเจ็บจากการชก หรือ ด้วยเหตุทางร่างกายอื่นๆ ต้องยุติการแข่งขันและให้ผู้แข่งขันเป็นผู้ชนะ ทั้งนี้เป็นสิทธิ์ของผู้ชี้ขาดที่อาจจะหารือกับแพทย์ ซึ่งเมื่อหารือกับแพทย์แล้ว ผู้ชี้ขาดต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์

     2.4 ชนะโดยถอนตัว (Win by retirement) ถ้าผู้เข้าแข่งขันถอนตัวจากการแข่งขันด้วยความสมัครใจ เนื่องมาจากอาการบาดเจ็บหรือเหตุอื่น หรือไม่สามารถแข่งต่อไปทันที หลังจากการหยุดพักระหว่างยก ให้คู่เข้าแข่งขันเป็นผู้ชนะ

3. การให้คะแนน

     3.1 แต่ละยกมี 20 คะแนน เมื่อสิ้นสุดลงแต่ละยกผู้เข้าแข่งขันที่ดีกว่า มีทักษะมากกว่า จะได้ 20 คะแนน และคู่เข้าแข่งขันจะได้ลดลงไป ถ้าผู้เข้าแข่งขันทั้งสองชกดีเท่ากัน ให้คะแนนคนละ 20 คะแนน

     3.2 คิดคะแนนให้เป็นไปตามเกณฑ์การให้คะแนน คือ 1 คะแนน สำหรับอาวุธที่กระทำถูกต้อง 1 อาวุธ

     3.3 เมื่อการแข่งขันสิ้นสุดลง ถ้าได้ให้คะแนนแต่ละยกตามเกณฑ์ข้อ 1 และ 2 แล้วผู้ตัดสินพบว่า คะแนนของผู้เข้าแข่งขันทั้งสองฝ่ายเท่ากัน จะต้องพิจารณาตัดสินผลการแข่งขันให้แก่ผู้แข่งขัน

          - ผู้แข่งขันที่เป็นฝ่ายรุกมากที่สุด หากเป็นฝ่ายรุกเท่ากันให้พิจารณาผู้ที่มีแบบในการชกดีกว่า

          - ผู้แข่งขันที่มีการป้องกันตัวดีกว่า จากการปัดป้อง ปิด จับ รั้ง การหลบหลีกและอื่น ๆ สามารถป้องกันอาวุธต่าง ๆ ของคู่ต่อสู้จนคู่ต่อสู้ทำอะไรไม่ได้

     3.4 ในการแข่งขันทุกครั้งจะต้องมีการประกาศผู้ชนะ

4. การแต่งกาย

     4.1 ต้องสวมกางเกงขาสั้นเพียงครึ่งโคนขา สีแดงหรือสีน้ำเงินตามมุมของตนเอง ไม่ปักโฆษณาเกินกว่า 10 ตารางเซนติเมตร และต้องสวมเสื้อไม่มีแขน สีเสื้ออาจเป็นสีเดียวกับกางเกงก็ได้

     4.2 ไม่สวมรองเท้า เล็บเท้าต้องตัดสั้น ต้องใช้สนับแข้ง สนับศอก สวมที่ศอกและขาทั้งสองข้างตลอดการแข่งขัน และต้องเป็นสนับแข้ง สนับศอกที่คณะกรรมการสมาคมมวยไทยสมัครเล่นแห่งประเทศไทยรับรองเท่านั้น ห้ามใช้ผ้าพันรัดโดยเด็ดขาด

     4.3 สวมมงคลที่ศีรษะเฉพาะเวลาที่ร่ายรำไหว้ครูก่อนทำการแข่งขันเท่านั้น และจะผูกผ้าประเจียดที่โคนแขนข้างใดข้างหนึ่งหรือสองข้างก็ได้ ส่วนเครื่องรางอื่น ๆ อนุญาตให้ผูกเอว แต่ต้องหุ้มให้มิดชิดไม่ให้เกิดอันตรายขณะแข่งขัน

     4.4 ต้องสวมกระจับ ที่ทำจากวัสดุที่แข็งแรงทนทาน เมื่อถูกตีด้วยเข่าหรืออาวุธในการต่อสู้อย่างอื่นจะทำให้บริเวณอวัยวะเพศไม่เกิดอันตราย

     4.5 ต้องใส่สนับฟัน เพื่อป้องกันกระแทกกับส่วนใดส่วนหนึ่งของอวัยวะภายในปาก ผู้แข่งขันที่เจตนาคายสนับฟันระหว่างการแข่งขันจะถูกเตือน หากทำอีกจะถูกตัดคะแนนหรือปรับเป็นผู้แพ้

          ถ้าสนับฟันหลุดออกจากปาก ให้ผู้ชี้ขาดยุติการแข่งขัน โดยนำผู้แข่งขันไปที่มุม ล้างสนับฟันให้สะอาดแล้วใส่คืนกลับเข้าที่ใหม่ ในระหว่างนั้นห้ามพี่เลี้ยงพูดกับผู้เข้าแข่งขันและห้ามให้ดื่มน้ำ

     4.6 ต้องสวมนวม เพื่อป้องกันการบาดเจ็บบริเวณมือ ซึ่งนวมที่ใช้แข่งขัน ผู้แข่งขันต้องสวมนวมสีแดงหรือสีน้ำเงินให้ตรงกับมุมของตนเอง

          คณะกรรมการจัดการแข่งขันจะจัดไว้ให้ ไม่อนุญาตให้ผู้แข่งขันใช้นวมของตนเอง และนวมที่ใช้ต้องผ่านการรับรองจากคณะกรรมการบริหารของสมาคมมวยไทยสมัครเล่นแห่งประเทศไทย

          นักมวยน้ำหนักไม่เกินรุ่นเวลเตอร์เวท ใช้นวมขนาด 10 ออนซ์ (284 กรัม) นักมวยน้ำหนักตั้งแต่รุ่นซูเปอร์เวลเตอร์เวท ใช้นวมขนาด 12 ออนซ์ (340 กรัม)

     4.7 ต้องสวมเครื่องป้องกันศีรษะ เครื่องป้องกันลำตัว ข้อเท้าและข้อศอก ที่คณะกรรมการเตรียมไว้ให้เท่านั้น การละเมิดเกี่ยวกับเครื่องแต่งกาย ผู้ชี้ขาดจะไม่อนุญาตให้ผู้แข่งขันที่แต่งกายไม่ถูกต้องเข้าร่วมทำการแข่งขัน ในกรณีที่นวมหรือเครื่องแต่งกายของผู้แข่งขันไม่เรียบร้อยในขณะแข่งขัน ผู้ชี้ขาดจะหยุดการแข่งขันเพื่อจัดให้เรียบร้อย

 

อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม

ผู้หญิงกับมวยไทย

5 สายเด็ด แม่ไม้มวยไทย



บทความที่น่าสนใจ

เด็กน้อย กับการเรียนมวยไทย
มวยไทย ( Muay Thai ) ให้อะไร ที่มากกว่า แค่การ ออกกำลัง ไปดูกันเลย