นายขนมต้ม ที่สุดแห่งตำนานมวยไทย บรมครูแห่งวงการมวย

นายขนมต้ม ที่สุดแห่งตำนานมวยไทย บรมครูแห่งวงการมวย

Share : facebook share line share.png twitter share messenger share

นายขนมต้ม ที่สุดแห่งตำนานมวยไทย บรมครูแห่งวงการมวย



หากเอ่ยถึง ตำนานมวยไทย แน่นอนว่า ทุกคนคงรู้จัก นายขนมต้ม ที่สุดแห่งตำนานมวยไทย บรมครูแห่งวงการมวย ที่ใครๆ ต่างก็ได้มีนายขนมต้มเป็นต้นแบบ ไปรู้จักกันเลยดีกว่า

 

 

นายขนมต้ม เป็นสุดยอดตำนานนักมวยไทย ที่ทั้งคนไทย และต่างชาติต่างรู้จักดี มีชื่อเสียงเลื่องลือ ในเรื่องของการชกมวย จากเหตุการณ์ ที่ชกชนะนักมวยพม่า ชายเลือดนักสู้นี้ สร้างชื่อเสียง ให้กับกรุงศรีอยุธยา และชาติไทย วันนี้เราจะมารู้จักประวัติของนายขนมต้มกัน

 

นายขนมต้ม ชกมวยชนะนักมวยพม่า เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2317 ประวัตินายขนม เกิดวันอังคาร เดือนยี่ ปีมะเมีย พ.ศ. 2293 ในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ในช่วงสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่บ้านกุ่ม โดยในปัจจุบัน ที่แห่งนี้คือ ต.บ้านกุ่ม อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อนายขนมต้ม มีอายุ 10 ปี เขาต้องมาอาศัยอยู่วัด เพราะว่า พ่อแม่ถูกพม่าฆ่าตายทั้งคู่ เมื่อเริ่มเติบโตเป็นหนุ่ม เขาจึงเริ่มฝึกวิชามวยไทย จนในสมัยพระเจ้าเอกทัศ กรุงศรีอยุธยา ต้องเสียพ่ายแก่พม่า นายขนมต้มถูกกวาดต้อนไปเมืองพม่า

 

นายขนมต้ม เขาเป็นชาวบ้านที่มีฝีมือ ในเชิงมวยไทยที่ดีมากๆ คนหนึ่ง ตั้งแต่ก่อนที่จะเสียกรุง เหล่าขุนนางพม่าได้นำตัวนายขนมต้ม เข้าถวายแด่พระเจ้าอังวะ พระเจ้าอังวะจึงได้ทรงโปรดให้จัดนักมวยพม่าเข้ามาเปรียบมวยด้วย นายขนมต้ม เมื่อได้คู่ชกแล้ว พระองค์ก็โปรดให้ชกกัน หน้าพระที่นั่ง

 

นายขนมต้ม เขาเป็นชายฉกรรจ์ รูปร่างล่ำสัน บึกบึน ผิวดำ เกล้าผมมวย ก่อนที่จะเริ่มทำการชกนายขนมต้มได้ทำพิธีไหว้ครู ตามแบบธรรมเนียมแบบมวยไทย ออกวาดลวดลายต่าง ๆ งดงามยิ่งด้วยท่าทางที่มั่นคง ซึ่งชายเลือดนักสู้นี้ สร้างชื่อเสียงมากมายให้กับกรุงศรีอยุธยา และชาติไทย โดยอาศัยความสามารถเชิงหมัดมวย

 

เมื่อพระเจ้ามังระ ได้ทรงโปรดให้ปฏิสังขรณ์ และก่อเติมเสริมสร้างพระเจดีย์ ชเวดากอง ในเมืองย่างกุ้ง เป็นการยิ่งใหญ่นั้น ครั้นงานสำเร็จลง ในปี พ.ศ. 2317 พอได้ถึงวันฤกษ์งามยามดี นั่นคือ วันที่ 17 มีนาคม จึงโปรดให้มีการทำพิธียกฉัตรใหญ่ ขึ้นไว้สูงบนยอดเพื่อเป็นปฐมฤกษ์ แล้วได้ทรงทำพิธีเปิดงานมหกรรมฉลอง อย่างยิ่งใหญ่มโหฬาร ขุนนางพม่า ได้กราบทูลว่า "นักมวยไทยมีฝีมือดียิ่งนัก"

 

พระเจ้ามังระ จึงได้ตรัสสั่งให้เอาตัวนายขนมต้ม นักมวยดีมีฝีมือ ตั้งแต่ครั้งกรุงเก่ามาถวาย โดยที่ พระเจ้ามังระ ได้ให้จัดมวยพม่า เข้ามาเพื่อเปรียบกับนายขนมต้ม โดยจัดให้ชก ต่อหน้าพระที่นั่ง ปรากฏว่า นายขนมต้มได้ชกพม่า ไม่ทันถึงยก ก็ชนะมากถึงเก้าคนสิบคน พระเจ้ามังระ ทอดพระเนตรก็ยกพระหัตถ์ตบพระอุระ ตรัสสรรเสริญ นายขนมต้มว่า “ คนไทยนี้มีพิษสงอยู่รอบตัว แม้มือเปล่ายังสามารถเอาชนะคนได้ ถึงเก้าคนสิบคน นี่หากว่ามีเจ้านายดี มีความสามัคคีกัน ไม่ขัดแข้งขากันเอง และไม่เห็นแก่ความสุขส่วนตัว และโคตรตระกูลแล้ว ไฉนเลยเล่า กรุงศรีอยุธยาจะเสียทีแก่ข้าศึก ดั่งที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ ”

 

“ หิรัญม้วนแผ่นดิน ” แม่ไม้มวยไทยลูกหนึ่ง ที่นายขนมต้มนำมาใช้ แก้ลำมวยปล้ำของเหล่านายทหารยอดมวยพม่า ทำให้ทุกคนภายในสนาม หน้าพระที่นั่งตลึง โดยวงการพนันพลิกล๊อค ทุกคนในที่นั้นแทบไม่เชื่อตาตัวเอง ว่านายขนมต้มยอดมวยไทย เอาชนะมวยพม่าได้อย่างไร เพราะว่าตลอดเวลา นายขนมต้มนั้นตกเป็นฝ่ายรับ อย่างล้มลุกคลุกคลาน แต่ทว่าเหตุการณ์พลิกผัน กลายเป็นนายขนมต้ม คว่ำนักมวยพม่าลงได้อย่างขาวสะอาด สวยงาม ด้วยการใช้ศอก กลับตวัดเข้าแสกหน้า แล้วเลือดสาด สลบคาเวที

 

“ ณรงค์พยุหบาท ” เป็นกระบวนท่า แม่ไม้มวยไทยลูกหนึ่ง ที่เป็นการใช้เท้า บุกเข้าโจมตี ด้วยการถีบ เตะ เหวี่ยง ให้คู่ต่อสู้เสียหลัก จนทำให้นักมวยพม่า ตีกรรเชียงถอยพายุเท้า ของนายขนมต้มเป็นกาหล จากการที่นายขนมต้ม นั้นใช้เท้าเตะรบกวนแถวชายโครง ใบหน้า และตามลำตัวจึงสามารถทำให้นักมวยพม่า มัวสาละวนอยู่กับการปิดป้อง หลบหลีกพายุเท้า จึงช่วยทำให้ช่วงล่างของนักมวยพม่าตาย คือขานั้น ไม่ถอยตามจังหวะ ยืนเฉยๆ อยู่กับที่ ใช้แต่มือปัดป้องช่วงบน เป็นโอกาสเพื่อให้นายขนมต้ม เตะปัดเท้าหน้าของนักมวยพม่า ทำให้เสียหลักเอียงวูบลง นายขนมต้ม ไม่ยอมปล่อยโอกาสให้ผ่านไป จึงหมุนตัวกลับ และใช้ส้นเท้ากระแทกเข้ากกหู ด้วยท่า “จรเข้ฟาดหาง” นักมวยพม่าหูอื้อ ตาพล่า และหมดสติไปทันทีนั่นเอง

 

หลังชนะนักมวยพม่า พระเจ้ามังระ จึงได้ปูนบำเหน็จ แก่นายขนมต้ม แต่งตั้งเป็นข้ารับใช้ในกรุงอังวะ แต่เขาปฏิเสธ และขอให้พระเจ้ามังระปลดปล่อยตน และเชลยคนไทยทั้งหมด ให้เป็นอิสระ เพื่อกลับบ้านเกิด พระเจ้ามังระยอมทำตามความประสงค์ ในที่สุดนายขนมต้ม และเหล่าเชลยไทย จึงได้รับอิสรภาพ และได้กลับแผ่นดินไทย ที่ขณะนั้นได้ก่อตั้งกรุงธนบุรี เป็นราชธานี อยู่ในช่วงสมัยของพระเจ้ากรุงธนบุรี ที่มีพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช นั่นเอง โดยที่ นายขนมต้ม อาศัยอยู่บ้านเกิดอย่างสงบ ไม่มีบันทึกไว้ ว่าเสียชีวิตเมื่อใด

 

วันที่ 17 มีนาคม ถือเป็นวันเกียรติประวัติของนายขนมต้ม และเพื่อเป็นเกียรติแก่นักมวยไทย นอกจากนี้ ชาวอยุธยาจึงได้ร่วมใจกันสร้างอนุสาวรีย์นายขนมต้ม ไว้ที่บริเวณสนามกีฬากลางจังหวัด แม้กระทั่งที่บนแผ่นดินเกิดที่ อ. บางบาล ก็ได้สร้างอนุสาวรีย์นายขนมต้มไว้ ไว้ที่บริเวณหน้าโรงเรียนวัดจุฬามณี ตำบลบ้านกุ่ม อำเภอบางบาล อนุสาวรีย์นายขนมต้ม มีความสูง ๒.๔ เมตร เพื่อเป็นอนุสติ เตือนใจและให้ลูกหลานไทย ยึดถือเป็นแบบอย่างสืบไปค่ะ

 

เห็นไหมคะว่ามวยไทยของเรา นั้นมีประวัติมาอย่างยาวนาน และทรงคุณค่า ดังนั้น เราจึงควรร่วมกับอนุรักษ์และสืบสานประเพณีที่ดีงามเหล่านี้เอาไว้ค่ะ

 

 

 

 

อ่านบทความเพิ่มเติม

ออกกำลังกาย เบิร์นไขมันเท่ๆ สไตล์ มวยไทย ( Muay Thai ) ต้องลองเลย

ประโยชน์มวยไทย เล่นอย่างไร ให้ดีต่อร่างกาย



บทความที่น่าสนใจ

ฝึก มวยไทย ( Muay Thai ) ได้ประโยชน์กว่าที่คิด
มวยไทย ก็สร้าง Six Pack ได้